นับแต่โบราณมาชนชาติไทยมีความรู้ และผูกพันกับพรรณไม้ตระกูลว่าน ด้วยเห็นคุณค่าทั้งในการใช้ทำยา หรือเชื่อกันว่าทำให้อยู่ยงคงกระพัน ทั้งให้ความเป็นสิริมงคล ดังนั้น เมื่อจะมีการสร้างสิ่งมงคลในรูปพระเครื่อง เครื่องว่านเกสรดอกไม้อันมีสรรพคุณ คุณวิเศษต่างๆเฉพาะตัว จึงเป็นหนึ่งในทัพสัมภาระที่ผู้สร้างพระให้ความสำคัญนำมาเป็นส่วนผสมประเภทหนึ่งที่ขาดไม่ได้จึงกล่าวได้ว่า ว่าน เป็นส่วนผสมในการสร้างพระเนื้อดินและเนื้อผง มาแต่โบราณ ดังคำแปลจากจารึกในแผ่นลานทองที่พบในกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี ที่เกี่ยวกับการนำว่านมาผสมสร้างพระดังนี้
ศุภมัสดุ 1265 สิทธิการิยะ แสดงบอกไว้ให้รู้ มีฤๅษีทั้งสี่ตน พระฤๅษีพิมพิลาไลย์ เป็นประธาน เราจะทำด้วยฤทธี ทำด้วยเครื่องประดิษฐ์มีวุวรรณ เป็นต้น คือบรมกษัตริย์พระยาศรีธรรมโศกราชเป็นผู้ศรัทธาพระฤๅษีทั้งสี่ตน จึงพร้อมกันนำเอาแต่ว่านทั้งหลาย ฤๅษีจึงอัญเชิญเทพยดามาช่วยกันทำพิธี ทำเป็นพระพิมพ์ไว้...
จากการพิจารณาพระเครื่องจะพบชิ้นส่วนของ ว่าน ผสมผสานอยู่ในเนื้อมวลสารของพระหลักๆมากมาย นับจากพระรอดมหาวัน พระกรุทุ่งเศรษฐี พระผงสุพรรณ พระนางพญา พระสมเด็จวัดระฆัง เป็นต้น หากแต่การนำว่านมาผสมนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งในบรรดาทัพสัมภาระอื่นๆ และ ว่าน ก็มิใช่ส่วนผสมหลัก แม้จะขาดไม่ได้จึงไม่อาจเรียกพระที่มีว่านเป็นส่วนผสมอยู่บ้าง เป็น พระเนื้อว่าน
แต่มีพระบางประเภทที่มีการนำว่านวิเศษ มาเป็นส่วนผสมสำคัญ จนเป็นหัวใจของเนื้อหามวลสาร ทั้งเห็นชัดเจน ไม่แทรกซึมปะปนกับมวลสารอื่น เช่น พระเนื้อว่านหลวงปู่ทวดวัดช้างให้ จังหวัดปัตตานี ที่มีการนำดินกากยายักษ์มาบดเป็นส่วนผสมสำคัญ เป็นเนื้อนำประกอบอยู่ในองค์พระ นอกจากนี้ยังพบในพระเครื่องของหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นพระเนื้อผงผสมว่าน ที่เรียกกันว่า พระเนื้อผงวาสนาจินดามณี
กรรมวิธีการสร้างพระเนื้อว่านในสมัยโบราณ
เริ่มจากการนำว่านวิเศษต่างๆมาบดให้ละเอียด โดยจะใช้ครกหินตำให้ละเอียด หากเป็นการสร้างพระหลวงปูทวดเนื้อว่าน ปี พ.ศ.2497 ได้ระบุการสร้างพระไว้ดังนี้
พิธีกดพิมพ์พระเนื้อว่านมีขึ้น ณ วัดช้างให้ โดยมีชาวบ้านและพระภิกษุช่วยกันตำว่านด้วยมือโดยใช้ครกตำ ขณะตำว่านจะต้องท่องคาถาที่พระอาจารย์ทิมระบุไว้ด้วย (ซึ่งในแต่ละวันพระอาจารย์ทิมจะให้ท่องพระคาถาไม่เหมอืนกัน) สำหรับแม่พิมพ์หลวงพ่อทวดที่ได้จัดทำขึ้นจากยางครั่งสีดำนั้น จากข้อมูลหลักฐานต่างๆ กล่าวกันว่าน่าจะมีเบ้าพิมพ์มากกว่า 16 เบ้าพิมพ์ แต่ก็ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน เหตุที่พระอาจารย์ทิมให้ช่างจัดทำแม่พิมพ์ขึ้นอีกจำนวนหนึ่งนั้นเพราะต้องการที่จะพิมพ์จำนวนพระให้ได้ 84,000 องค์ แต่ไม่สามารถกดพิมพ์พระได้จำนวนที่ตั้งใจไว้ โดยได้เพียงประมาณ 64,000 องค์ เนื่องจากระยะเวลามีจำกัด พิธีปลุกเสกในครั้งนั้นมีขึ้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2497 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลา 12.00 น. เมื่อทำพิธีปลุกเสกเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้ใส่ไว้ในบาตรพระให้ประชาชนเช่าบูชาโดยไม่กำหนดจำนวนเงิน สุดแล้วแต่ความศรัทธาของประชาชน
สำหรับส่วนผสมของพระเนื้อว่าน มีส่วนผสมต่างๆ เช่น
1. ว่าน 108 ชนิด 2. ปูนขาว 3. กล้วยป่า 4. ผงขี้ธูป 5. คราบไคลสถูปเก่าที่บรรจุอัฐิหลวงพ่อทวด 6. แร่ 7. ดินกากยายักษ์ 8. ดอกไม้แห้ง 9. น้ำพระพุทธมนต์ ฯลฯ
การโขลกตำส่วนผสมของเนื้อพระใช้ครกหินหลายใบ โดยตำเนื้อว่านกับดินดำก่อน เมื่อละเอียดแล้วจึงใส่ปูนขาวลงไปเล็กน้อยกับกล้วยป่าทั้งเนื้อทั้งเม็ดตำให้เหนียว แล้วจึงใส่ผงธูป ดอกไม้แห้ง แร่และอย่างอื่นผสมลงไป ระยะแรกๆ จะตำเนื้อละเอียด ต่อมาได้เร่งตำเพื่อให้ทันฤกษ์พิธี ปลุกเสกจึงตำออกมาเนื้อหยาบ ส่วนผสมและสีของเนื้อพระจะไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน บางองค์มีสีดำจัดเพราะใส่ดินกากยายักษ์มาก บางองค์มีสีเทาค่อนข้างขาวเพราะใส่ปูนขาวลงไปมาก และเนื้อพิเศษขั้นทดลองพิมพ์มีจำนวนน้อยมาก
การพิมพ์พระ บางองค์ร่อนจึงแกะออกจาแม่พิมได้ง่าย แต่ส่วนใหญ่ต้องใช้ไม้เสียบใต้ฐานองค์พระ เพื่องัดองค์พระออกมาจากแม่พิมพ์ แล้วจึงนำผงแร่มาแปะที่ด้านหลังขององค์พระทุกองค์
มวลสารในเนื้อพระ มักพบมีเม็ดแร่สีขาวขุ่น, สีดำ, สีขาวอมเหลือง, สีน้ำตาล, เม็ดทรายสีขาวหรือผงวิเศษปรากฏอยู่ทั่วไป โดยพบมากที่ด้านหลังขององค์พระ
จากกรรมวิธีการสร้างที่ยกตัวอย่างมา ผู้ที่ศึกษาคงมองออกถึงขั้นตอนต่างๆที่เกิดขึ้น ปัจจุบันการสร้างพระเนื้อว่านยังมีอยู่ หากแต่พบน้อยมาก เนื่องจากความยากลำบากในการเสาะหาว่านมงคลต่างๆ ที่ต้องใช้ในปริมาณมาก เพื่อเป็นมวลสารหลักในการสร้างพระ แต่อย่างไรก็ตาม กรรมวิธีนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งในวิธีการสร้างพระ ซึ่งคงเหลือเด่นชัดในพระไม่กี่ประเภท
|