หลวงปู่ผาด ฐิติปัญโญหรือพระครูวิบูลย์ปัญญาวัฒน์ มีนามเดิมว่าผาด นามสกุล ดิบประโคน เกิดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2455 (ตามเอกสารที่ออก แต่ที่จริงท่านเกิดก่อนนั้น 2 ปี คือ ปี 2453 จากคำบอกกล่าวของท่าน เพราะเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วยังไม่มีการทำเอกสารการเกิดอย่างชัดเจน) ณ บ้านกรวด เลขที่ 36 หมู่ 3 ตำบลปราสาท อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย บิดาคือ นายเอี้ยง เสาเปรีย มารดาคือนางเตียบ นามสกุลเดิม ดิบประโคน อาชีพกสิกรรม มีพี่น้องทั้งหมด 4 คนล้วนเป็นชายคือ 1.นายนาค เสาเปรีย(ถึงแก่กรรมแล้ว) 2.นายเพือ เสาเปรีย(ถึงแก่กรรมแล้ว) 3.นายผาด (หลวงปู่ผาด) 4. นายมนต์ เสาเปรีย
ชีวิตในวัยเด็กหลวงปู่ผาด ท่านเป็นเด็กเรียบร้อย อยู่ในโอวาทบิดามารดามากไม่เคยนำความทุกข์ร้อนลำบากใจมาสู่ครอบครัว ท่านเป็นคนขยันขันแข็งช่วยแบ่งเบาภาระทางบ้าน ทั้งหุงหาอาหาร เลี้ยงควาย ตามประสาครอบครัวชนบทที่ยังห่างไกลความเจริญ ดังนั้นหลวงปู่ผาดและพี่ๆน้องๆจึงไม่มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนด้วยยังไม่มีโรงเรียนเปิดสอน
ก่อนที่หลวงปู่ผาดจะบวชเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ หลวงปู่ได้ช่วยงานทางบ้านจนอายุได้ 18 ปี จึงขออนุญาตบิดาและมารดา บรรพชาเป็นสามเณร บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดประทุมทอง ตำบลทุ่งมล อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ราว พ.ศ.2472 ท่านได้ศึกษาอักษรขอมเป็นส่วนมากเพราะภาษาไทยยังไม่แพร่หลายเข้ามายังชายแดนที่ห่างไกลความเจริญแถบนั้นมากนัก หลวงปู่ผาดอยู่ศึกษาหาความรู้ที่วัดประทุมทอง 2 ปี จึงลาสิกขาบท ด้วยโยมพ่อท่านได้ล่วงลับทิ้งให้โยมแม่เป็นผู้แบกภาระแต่ผู้เดียวหลวงปู่ผาดในสมัยนั้นจึงได้ลาสิกขาบทแล้วไปทำไร่ ทำนา ในบางครั้งที่ร่างกายท่านรับสภาพไม่ไหว ก็ผลัดเปลี่ยนกับพี่น้องแต่กระนั้นท่านก็ไม่เคยปริปากบ่น ท่านช่วยแบ่งเบาภาระโยมแม่อีก 3 ปีจนหลวงปู่อายุได้ 22 ปี ท่านจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา
ท่านจึงได้อุปสมบทที่วัดบ้านกรวด ตำบลปังกู อำเภอประโคนชัย(สมัยนั้น) จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2476 ได้รับฉายาว่า " ฐิติปญฺโญ " โดยมีพระครูบริหารกิจโกศล (มอก) วัดจำปา ตำบลประโคนชัย อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นพระอุปัชฌาย์(ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอประโคนชัยด้วย) มีพระปลัดพอก เจ้าอาวาสวัดโคน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการเนียด วัดจันดุม อำเภอประโคนชัย เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่ออุปสมบทแล้วหลวงปู่ผาดได้จำพรรษาที่ วัดบ้านกรวด ตำบลปังกู อำเภอประโคนชัย(สมัยนั้น)จังหวัดบุรีรัมย์ ในตอนนั้นมีหลวงพ่อหริ่ง อินฺทวํโส เป็นเจ้าอาวาส หลวงปู่ผาดได้อยู่ศึกษาพระธรรมวินัยในวัดบ้านกรวด 4 พรรษา ได้มีศรัทธาญาติโยมจากบ้านอำปึล เขตอำปึล จังหวัดปันเตียนเมียนเจย ประเทศกัมพูชา มานิมนต์พระจากฝั่งไทยไปจำพรรษาที่วัดอำปึล หลวงพ่อหริ่งจึงได้ให้ท่านไปจำพรรษาอยู่ที่นั่น เพื่อเป็นการฉลองศรัทธาของญาติโยม หลวงปู่ผาดจึงได้เก็บอัฐบริขารแล้วกราบลามุ่งสู่วัดบ้านอำปึล ใช้เวลาเดินทางด้วยการเดินเท้า 1 วันเต็มตามเส้นทางป่าเขาลำเนาไพรที่แสนวิเวกและสงบหลวงปู่ผาดอยู่โปรดญาติโยมฟากโน้นพอสมควรร่วม 8 ปี ท่านจึงเดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านกรวดแต่ก็ยังเมตตาไปโปรดสาธุชนบ้านอำปึลอีกเป็นครั้งคราว จึงถือกันว่าหลวงปู่ผาดท่านเป็นอรหันต์ 2 แผ่นดิน
หลวงปู่ผาดหลังจากบวชแล้ว ท่านได้เดินธุดงค์จาริกไปยังสถานที่ต่างๆรวมทั้งประเทศเขมรและใช้เวลาในการจำพรรษาอยู่ในประเทศเขมรหลายปี จนเป็นที่เคารพนับถือของคนในแถบนั้น ท่านได้ช่วยสร้างวัดและอุโบสถบริเวณแถบปราสาทบันเตยชมาร์หรือบันทายฉมาร์ เพราะความเป็นที่เคารพนับถือจากชาวบ้านเป็นจำนวนมาก จากคำบอกเล่าท่านได้ถูกทหารฝรั่งเศสจับตัวกักขังไว้ ต่อมาปรากฏว่าท่านได้หายสาบสูญไปจากสถานที่กักขัง โดยเป็นที่อัศจรรย์อย่างยิ่ง ชาวบ้านท้้งสองดินแดนต่างเคารพยกย่องนับถือท่าน จนเป็นที่มาของสมญานามว่า พระอรหันต์ 2 แผ่นดิน(
ปราสาทบันทายฉมาร์ ตั้งอยู่ใน อ.ทมอพวก จ.บันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา การเดินทางจากเมืองไทยที่สะดวกที่สุด ข้ามแดนที่ จ. สระแก้ว ด่านอรัญประเทศ-ปอยเปต)
เมื่อหลวงปู่ผาด ท่านได้มาจำพรรษาที่วัดบ้านกรวดได้ 6 พรรษา ราวปี 2513 หลวงปู่จึงได้สร้างวัดบ้านตาอี หมู่ที่ 15 โดยมีหลวงพ่อทอง อโสโก วัดจระเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ,หลวงพ่อแป๊ะ กนฺตสีโล พร้อมด้วยญาติโยมบ้านตาอี บ้านโคกเบง บ้านเขาดินใต้ เป็นผู้สนับสนุน หลวงปู่ผาดได้จำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านตาอี พร้มดำรงค์ตำแหน่งเจ้าอาวาสเป็นเวลา 10 ปี มีการก่อสร้างถาวรวัตถุอาทิ ศาลาการเปรียญ 1 หลัง กุฏิที่พักสงฆ์อีก 7 หลัง ขุดสระน้ำ ซึ่งการก่อสร้างได้ลุล่วงไปด้อย่างรวดเร็ว
ต่อมาหลวงปู่ผาดและหลวงพ่อแป๊ะ ได้เริ่มสร้างวัดตาปาง หมู่ที่ 7 ตำบลจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ได้สร้างศาลาการเปรียญ 1 หลัง กุฎิที่พักสงฆ์ 2 หลัง โดยมีหลวงตาดิน รักษาการเจ้าอาวาส จากนั้นหลวงปู่ผาด ได้ริเริ่มสร้างวัดปราสาททอง ตำบลปราสาท อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ท่านได้เป้นหัวเรี่ยวหัวแรงสร้าง โรงครัว 1 หลัง กุฎิที่พักสงฆ์ 1 หลังถือได้ว่าหลวงปู่ผาดท่านเมตตาเป็นผู้สร้างประโยชน์ต่อพระศาสนาโดยแท้ ในช่วงที่หลวงปู่ผาดเป็นเจ้าอาวาสวัดตาอีอยู่นั้น พอปี พ.ศ.2520 พระครูเขมวัตรวิธูร(หลวงพ่อหรีก)เจ้าอาวาสวัดบ้านกรวด ได้มรณภาพลงทำให้วัดว่างจากเจ้าอาวาส มีเพียงพระอาจารย์ภาพ โกสโล พรรษา 10 และพระอาจารย์พรชัย โอภาโส พรรษา 8 ช่วยกันดูแลปกครองพระเณรในวัด พระเณรในวัดพร้อมด้วยอุบาสกอุบาสิกาจึงได้ไปกราบอาราธนานิมนต์หลวงปู่ผาดกลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านกรวด ญาติโยมทางบ้านตาอีทักท้วงต่อมาจึงได้ยินยอม แต่ขอหลวงปู่อย่าได้ทิ้งวัดตาอี คือให้หลวงปู่เป็นเจ้าอาวาสทั้ง 2 วัดแรกๆท่านไปๆมาๆแต่ภายหลังท่านได้มอบหมายให้ หลวงพ่อนิน อนุตฺตโร ปกครองวัดตาอีแทนท่าน หลวงปู่ผาดจึงได้จำพรรษาและดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านกรวดนับแต่นั้นมา หลวงปู่ผาด ฐิติปณฺโญ เป็นอมตเถราจารย์อิสานใต้ 5 แผ่นดิน
คนห้าแผ่นดิน ในที่นี้ หมายถึงคนที่มีชีวิตอยู่ในพระราชอาณาจักรไทย ภายใต้ร่มบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทย 5 รัชกาล
คนห้าแผ่นดิน ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันหมายถึงคนที่เกิดหรือเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 คือ ก่อนเวลา 00.45 นาฬิกาของเช้าวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 และยังมีชีวิตอยู่ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ เท่ากับว่าคนนั้นจะมีชีวิตอยู่ใน 5 แผ่นดิน คือ อยู่ในแผ่นดิน
- สมเด็จพระปรมินทรามหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรามหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ
- พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
ถ้านับอายุถึงปี พ.ศ.2550 โดยถือเอาเวลาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม วันกลางปีเป็นหลัก คนห้าแผ่นดิน ตามความหมายที่กล่าวมาข้างต้นก็จะมีอายุตั้งแต่ 96 ปี 8 เดือน 8 วันขึ้นไป มีพรรษากาลกว่า 100 ปี มีจิตตานุภาพอันแก่กล้าจนแม้แต่หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ วัดบ้านไร่ เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด ยังกล่าวยกย่องกับญาติโยมที่มากราบท่านว่า ให้ไปกราบหลวงปู่ผาด ทั้งยังเรียกหลวงปู่ผาดว่า หลวงพ่อใหญ่ แม้หลวงปู่ผาด จะมีพรรษากาลสูง แต่ท่านยังมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงผิดกับคนรุ่นราวคราวเดียวกัน ท่านเป็นพระที่พูดน้อย มักน้อย ไม่ฝักใฝ่ในลาภยศ นิยมในการถือสันโดษ ดำรงตนอย่างเรียบง่าย มีเมตตาไม่มีประมาณ วัตถุมงคลที่ท่านสร้างและปลุกเสกให้ล้วนมีประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์รับรู้กันในหมู่คนที่นับถือท่านอย่างยิ่งยวดเลยทีเดียว หลวงปู่ผาด ท่านได้มรณะภาพในวันที่ 5 มกราคม 2558 เวลา 11.58 น. รวมอายุได้ 105 ปี 8 เดือน 2 วัน 85 พรรษา ที่จริงอาจารย์ของหลวงปู่ผาดชื่อหลวงปู่ริง สุวรรณโชติองค์ที่หลวงปู่ผาดยืนยันว่าเป็นเพื่อนคู่หูกับหลวงปู่สุข วัดโพธิ์ทรายทอง แต่บางทีเข้าใจว่าชื่อหรีก อินทวังโส แต่หลวงปู่หรีกฉายาจริงๆคือ อินทปัญโญ หรือพระครูเขมวัตรวิธูร เจ้าอาวาสองค์ก่อนเพื่อนแท้ๆของหลวงปู่ผาด ในเหรียญหลวงปู่หริ่งช่างแกะ เขียนฉายาผิด เป็นอินทวัง โส ซึ่งวัดบ้านกรวดสร้างแจกงานถวายเพลิงท่านประมาณปี 2520
หลวงปู่ผาด มรณะภาพอย่างสงบ ด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2558 เวลา 11.58 น. สิริอายุ 104 ปี 8 เดือน 2 วัน พรรษา 85 พรรษา