ข้อมูลประวัติ หลวงพ่อชาญ อิณมุตโต วัดบางบ่อ
หลวงพ่อชาญ "พระครูวิจารณ์ธรรมคุณ" หรือที่ชาวบ้านมักเรียกขานว่า "หลวงพ่อชาญ อิณมุตโต" ด้วยเป็นนามที่คุ้นเคยต่อการเรียกขานของบรรดาศิษยานุศิษย์ รวมทั้งผู้ใกล้ชิดที่เลื่อมใสศรัทธาชื่อเสียงของท่าน เป็นที่รับรู้กันทั่วท้องทุ่งเมืองสมุทรปราการถึงความขลังความศักดิ์สิทธิ์ของวัตถุมงคล ที่สามารถพลิกผันสถานการณ์อันเลวร้าย ให้กลับกลายเป็นดีได้อย่างน่าอัศจรรย์
หลวงพ่อชาญ มีนามเดิมว่า ชาญ รอดทอง เกิดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2457 ที่ ต.เกาะไร อ. บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ชีวิตในวัยเด็กเป็นคนที่เรียบง่าย อ่อนน้อมถ่อมตน ชอบเข้าวัดฟังธรรม เรียนจบชั้น ป.5 จากโรงเรียนอภัยพิทยาคาร (วัดแก้วพิจิตร) จ.ปราจีนบุรี แล้วออกมาช่วยบิดามารดาทำนา
เมื่ออายุได้ 20 ปีบริบูรณ์ จึงเข้าพิธีบรรพชาอุปสมบท เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2476 มีพระอธิการบุญเหลือ โสภโณ วัดเทพราช อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า อิณมุตโต หลังอุปสมบทได้อยู่จำพรรษาที่วัดคลองสวน ต่อมาย้ายมาอยู่ที่วัดนิยมยาตรา จำพรรษาอยู่ 32 พรรษา
ระหว่างที่จำพรรษาอยู่ที่อำเภอบ้านโพธิ์ ได้มีโอกาสศึกษาวิชากัมมัฏฐานจากพระเกจิอาจารย์ชื่อดังยุคอินโดจีน 2 ท่าน คือ หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก และ หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา จ.ปราจีนบุรี
หลวงพ่อชาญ ได้เรียนวิชากัมมัฏฐาน 40 กอง จากหลวงพ่อจาด วัดบางกะเบา หลวงพ่อชาญ เล่าว่า "การเรียนกัมมัฏฐาน เป็นวิธีฝึกจิตให้เกิดสมาธิ เมื่อมีสมาธิก็เกิดปัญญา และมองได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนไม่เที่ยง มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย สรุป คือ ไม่มีอะไรเลย เพื่อให้ปลงและหลุดพ้น"
ในบรรดาพระอาจารย์ของหลวงพ่อชาญทั้งหมด หลวงพ่อเหลือ ถือเป็นปฐมอาจารย์ก็ว่าได้ หลวงพ่อเหลือ เป็นพระที่ใฝ่รู้ศึกษาค้นคว้าทางพระเวทวิทยาคมด้านมหาอุด คงกระพัน แคล้วคลาด และยาแผนโบราณ
หลังศึกษาอยู่กับหลวงพ่อเหลือจนวิชาแกร่งกล้าแล้ว จึงได้ออกธุดงค์จนพบกับหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย จ.สมุทรปราการ และได้เข้าฝากตัวเป็นศิษย์ในครั้งนี้ท่านได้พบกับสหธรรมิก คนสำคัญท่านหนึ่ง คือ หลวงพ่อนก วัดสังกะสี จ.สมุทรปราการ
หลวงพ่อชาญ ศึกษาวิชาพื้นฐานสมถกรรมฐาน และการตั้งธาตุหนุนธาตุประจุในวัตถุมงคล ซึ่งวิชานี้หลวงพ่อเหลือได้รับการถ่ายทอดมาจากหลวงพ่อปาน ทำให้ได้ตกทอดมาอยู่กับหลวงพ่อชาญ สำหรับการตั้งธาตุหนุนนั้น ลูกศิษย์ในสายของหลวงพ่อเหลือ ทราบกันดีว่าเป็นหัวใจหลักของการปลุกเสกวัตถุมงคล
ผลงานด้านการดูแลศาสนสมบัติ หลวงพ่อชาญ ได้จัดสร้างอาคารเสนาสนะต่างๆ มากมาย ทั้งศาลาการเปรียญ กุฏิทรงไทย ซุ้มประตู โรงเรียนพระปริยัติธรรม และเมรุไร้ควัน จนได้รับการยกเป็นวัดพัฒนาดีเด่นในปี พ.ศ.2547
ด้านการศึกษา ได้จัดให้มีการสร้างโรงเรียนประถมวัดบางบ่อ พร้อมทั้งสนับสนุนโรงเรียนทุกโรงเรียนที่อยู่ในเขตปกครอง ด้วยทุนทรัพย์ที่ชาวบ้านในย่านนั้นให้การบริจาคไว้ ซึ่งท่านได้จัดตั้งกองทุนเอาไว้ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนได้มีโอกาสได้รับการศึกษา รวมทั้งพระภิกษุ-สามเณรด้วย ท่านได้ส่งพระภิกษุ-สามเณรที่สนใจใฝ่การศึกษาเหล่านั้น ไปรับการศึกษาในกรุงเทพฯ บางรายประสบความสำเร็จทางด้านการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม โดยอาศัยปัจจัยจากกองทุนการศึกษาที่ท่านจัดตั้งขึ้น
ลำดับการปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2510 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางบ่อ พ.ศ.2513 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอบางบ่อ พ.ศ.2541 ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอบางบ่อ จนถึงปัจจุบัน ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2510 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูวิจารณ์ธรรมคุณ พ.ศ.2551 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระมงคลวรากร
การสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อชาญนั้น นานครั้งถึงจะจัดสร้างสักครั้งหนึ่ง เช่น พระเหรียญและพระผง 80 ปี เหรียญนั่งเสือ เสือหล่อ เสือไม้แกะจากไม้งิ้วดำ ไม้พะยูง และอื่นๆ เป็นต้น
แต่ส่วนมากญาติโยมจะมาขอสร้างท่านก็เมตตาอนุญาตให้จัดสร้าง หลวงพ่อชาญ เป็นพระสุปฏิปันโน เป็นพระแท้ ที่น่าเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง ชื่อเสียงโด่งดังมานาน เป็นที่กล่าวขานในหมู่ศิษย์ชาวบางบ่อ และชาวปากน้ำถึงความขลังความศักดิ์สิทธิ์ และจริยวัตร ทำให้ท่านได้รับกิจนิมนต์ไปนั่งปรกปลุกเสกวัตถุมงคลในพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลสำคัญทั่วประเทศ
สำหรับวัตถุมงคลของท่านที่มีประสบการณ์และกล่าวขานกันถึงพุทธคุณ ได้แก่ เหรียญนั่งเสือ ปี พ.ศ.2550 ถือได้ว่าเป็นเหรียญยอดนิยมในขณะนี้ นอกจากนี้ ยังมีวัตถุมงคลดังอีกหลายรุ่น อาทิ เหรียญหล่อโบราณเนื้อเงิน, พระกริ่ง รุ่นมงคลวรากร, เหรียญโปร่งฟ้าหลวงพ่อชาญ, พระผงรูปเหมือนหลวงพ่อชาญ เป็นต้น
หลวงพ่อชาญ อิณมุตโต มรณภาพเมื่อ เวลา 12.00 น. วันที่ 10 ก.ค.61 สิริรวมอายุ 104 ปี 3 เดือน 7 วัน 84 พรรษา