ไกลออกไปจากเมืองหลวง เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว บริเวณทุ่งแถบนั้นเต็มไปด้วยต้นข้าวที่กำลังออกรวงเหลืองอร่าม ข้าวแต่ละรวงเบ่งบานและอวบโต จนลำต้นไม่อาจทานน้ำหนักของเมล็ดข้าวได้ ต้องโน้มตัวทอดลงสู่พื้นดิน บริเวณนั้นมีชื่อเรียกว่า "บ้านไผ่เดาะ" อยู่ในตำบลบางตะเคียน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดนี้เองนับแล้วคืออู่ข้าวอู่น้ำ ของเมืองไทยก็คงไม่ผิด
บ้านไผ่เดาะ เป็นชุมชนที่หนาแน่นพอสมควร อาชีพหลักของผู้คนที่นั่นคือการทำนา อันเป็นอาชีพดั้งเดิมที่บรรพบุรุษมอบให้ไว้ เนื่องจากเป็นดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ ทำนาได้ผลมากมาย ความสงบสุขจึงมีให้เห็นอยู่ทั่วไป
ณ ที่นี่แหละ คือถิ่นกำเนิดของเด็กคนหนึ่ง ที่มีชื่อว่า "เป้า" เด็กชายเป้าผู้นี้เมื่อเติบใหญ่ได้กลายเป็นผู้ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างมาก น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก แต่ก่อนที่จะถึงเวลานั้นขอให้เราย้อนกลับ ไปสู่ครั้งปฐมวัยของเด็กน้อยผู้นี้กันเถอะ
เด็กชายเป้าเป็นบุตรของชาวนาโดยตรงผู้หนึ่ง บิดาชื่อว่า "นายช้าง" มารดาชื่อว่า "นางเปรม" มีพี่น้องรวมทั้งสิ้น ๘ คน เป้าเป็นบุตรคนที่ ๕ เมื่อเป้าเกิดทั้งพ่อแม่ญาติพี่น้อง ก็รู้ว่าเป้าไม่ใช่คนแข็งแรงอะไรนัก เพราะเป้าเป็นเด็กผอม พุงป่อง และเจ็บออดๆ แอดๆ เสมอแต่ว่าอาการนั้นก็ไม่หนักหนาอะไร คงเลี้ยงดูกันได้เรื่อยมา
ชีวิตในวัยเด็กนั้นเป้าก็เหมือนกับเด็กอื่นๆทั่วไป คือชอบเล่นฝุ่นสนุกซุกซนตะลอนๆ ไปตามชายทุ่งและดำผุดดำว่ายอยู่ในคลองบึงที่ไม่ห่างจากบ้านนัก ทั้งๆที่เป็นเด็กซึ่งพ่อแม่ออกจะเป็นห่วงอยู่ เพราะเกรงว่าโรคภัยจะแทรกแซง เนื่องจากความอ่อนแอ แต่เป้าก็คงซุกซน และเจริญวัยเรื่อยมา พร้อมกับอายุที่เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เป้าเริ่มมีภาระเล็กๆน้อยๆ คือติดตามผู้ใหญ่ออกไปทำนา ตามแรงความสามารถเท่าที่จะทำได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการสอนวิชาชีพที่จะกลายเป็นสมบัติติดตัวไปวันข้างหน้าอีกวิธีหนึ่ง
แต่กับพ่อกับแม่ของเป้าแล้วคิดไปไกลกว่านั้นอีก คือชีวิตของชาวนาจะมีอะไรไปมากกว่าตื่นเช้าออกสู่ทุ่งกว้าง เย็นลงก็กลับบ้าน วิชาความรู้อื่นนั้นคงไม่มี ในเมื่อหาเวลาที่จะร่ำเรียนไม่ได้ ความคิดที่วูบขึ้นมาเช่นนั้น ในขณะนั้นทำให้พ่อแม่ของเป้าตัดสินใจส่งลูกชายน้อยๆ ไปขอรับวิชาความรู้ จากแหล่งรวมของสรรพวิชาทั้งหลาย นั่นก็คือวัด วัดแรกที่เป้าได้ร่ำเรียนคือวัดใกล้ๆบ้านนั่นเอง เป้าได้รับรู้ธรรมเนียมใหม่ กล่าวคือเป้าต้องรับใช้ปรนนิบัติพระภิกษุผู้เป็นอาจารย์ด้วยหลังจากเลิกเรียนแล้ว ซึ่งก็หาทำให้เด็กน้อยเบื่อหน่ายไม่ การรับใช้อาจารย์ก็เหมือนกับรับใช้พ่อแม่ ดังนั้นเป้าจึงมิได้รังเกียจ ตรงกันข้ามกับมีความกระตือรือร้น เมื่ออาจารย์เรียกหาความรู้ในด้านอ่านออกเขียนภาษาไทยของเด็กชายเป้าก็ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วอ่านเขียนได้คล่องแคล่ว และด้วยความกระตือรือร้นของเด็กผู้นี้ ทำให้อาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาบังเกิดความเมตตา สอนเด็กชายเป้าให้รู้จักอ่านเขียนภาษาขอมต่อไป
ว่ากันว่าใครก็ตามในสมัยนั้นยุคนั้น ถ้าเรียนภาษาขอมก็ถือว่าเป็นการเรียนในชั้นสูง แต่เรียนไปได้ไม่นาน เป็นก็จำต้องย้ายวัดเพื่อการศึกษาต่อไป ตามธรรมเนียมของนักเรียนใหม่ พระอาจารย์ย่อจะปล่อยให้ผ่านไปไม่ได้ เป้าจึงต้องย้อนเรียนภาษาไทยอีกครั้งเป็นการทบทวน ดูเหมือนว่าความรู้ในภาษาไทยที่เป้ามีอยู่แล้วจะเป็นที่รับรองของพระอาจารย์ เป้าจึงได้ก้าวต่อไปสู่ชั้นสูงคือเรียนภาษาขอมอีกครั้ง
ในครั้งนี้เด็กน้อยผู้นี้ได้แสดงความสามารถ ให้ประจักษ์อีกครั้งหนึ่งเพราะชั่วเวลาไม่นาน เป้าก็อ่านหนังสือของเลยหน้าเด็กๆรุ่นเดียวกันจนเป็นที่เลื่องลือยกย่อง อาจารย์เองก็ถึงกับออกปากชมไม่ขาดปากเลย เพื่อนๆของเป้าถึงกับออกปากอย่างล้อเลียน เป้าน่ากลัวไม่ใช่คนไทย แต่เป็นขอม จึงอ่านเขียนหนังสือขอมได้คล่องแคล่วนัก และแล้วฉายาว่า "ขอม" ก็ปรากฏขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา แต่เมื่อเรียกกันไปนานๆ ชื่อเป้าก็ชักเลือนหายไปทุกที เพื่อนฝูงและผู้รู้จักมักคุ้นตลอดจนคนที่สูงอายุกว่า ต่างยอมรับเอาฉายาขอมเข้าไว้อย่างสะดวกปากคำหนึ่งก็ขอมสองคำก็ขอม ที่สุดชื่อเป้าอันเป้าชื่อเดิมของเด็กน้อยผู้นี้ ก็สูญหายไปจากปากอย่างเด็ดขาด กลายเป็นเด็กชายขอมขึ้นมาแทนที่
กล่าวถึงการศึกษาที่วัด อันเสมือนโรงเรียนสำหรับยุคนั้น เปรียบได้กับการคึกษาของนักเรียนประจำในยุคนี้ กล่าวคือต้องพำนักอยู่ทีวัดตลอดไป โดยมีอาจารย์ที่เป็นทั้งครูและผู้ปกครองไปพร้อมๆกัน แต่นั่นก็หาใช่ว่านักเรียนของวัดจะไม่มีโอกาสได้กลับบ้าน ที่จริงเมื่อถึงเวลาอันสมควร นักเรียนวัดก็กลับบ้านกันทั้งนั้น เป้า หรือบัดนี้มีชื่อใหม่ตามความนิยมว่า "ขอม" ก็กลับบ้านเหมือนกัน เมื่อถึงบ้านความซุกซนแบบเดิมๆ ที่เป้าเคยเล่นซุกซนก็หายไป เป้าหรือขอมกลายเป็นเด็กที่มีระเบียบรู้จักการปรนนิบัติรับใช้ผู้สูงอายุกว่า การพูดจาก็ฉาดฉานจะอ่านจะเขียนก็คล่องแคล่ว สร้างความชื่นใจให้กับผู้ที่เป็นพ่อแม่เป็นอย่างยิ่ง จนทำให้นายช้างและนางเปรมลงความเห็นพ้องต้องกันว่า ตนนั้นได้แก้วไว้ในมือแล้วสมควรที่จะได้รับการเจียรไนต่อไป ดังนั้นหลังจากที่ศึกษาอยู่ ณ วัดบางสามได้ระยะหนึ่งของก็ถูกส่งตัวเข้ากรุงซึ่งเป็นการเผชิญชีวิตครั้งใหญ่สำหรับเด็กเล็กๆ คนหนึ่งที่ไม่เคยจากบ้านไปไหนไกลเกินกว่าวัดบางสาม แต่การไปครั้งนี้หมายถึงอนาคตที่จะชี้บอกว่า ต่อไปจะได้เป็นเจ้าคนนายคน ดังคำเปรียบเทียบที่ผู้ใหญ่ชอบพูดกันหรือไม่ แทนที่จะเป็นเพียงชาวไร่ชาวนาดังบรรพบุรุษของตน และแน่ล่ะกรุงเทพฯ ช่างเป็นคำที่หวานหูเสียนี่กระไร สวรรค์สำหรับทุกคน ใครได้ไปแล้วมักไม่ยอมกลับกัน
ขอมถูกพ่อแม่พามาฝากไว้วัดสระเกศ เนื่องจากมีภิกษุที่รู้จักคุ้นเคยกับทางบ้านจำพรรษาอยู่ที่นั่น วัดสระเกศก็เลยได้เป็นบ้านที่สองของเด็กชายขอม พร้อมๆ กับการเข้าโรงเรียนประถมศึกษาซึ่งตั้งอยู่ที่วัดนั้นด้วย บัดนี้แทนที่จะเรียนแบบแผนเก่า แต่ขอมได้เรียนหลักสูตรการศึกษา แบบใหม่ที่หลวงท่านกำหนดให้อนุชนได้เล่าเรียน ชีวิตอันเป็นประจำวันของขอม ในกรุงเทพฯ ก็เริ่มต้นด้วยการตื่นแต่เช้าตรู่ หาอาหารใส่ปากใส่ท้องแต่พออิ่ม แล้วก็มุ่งหน้าไปยังโรงเรียน คร่ำเคร่งอยู่กับการเรียนไปจนบ้ายคล้อยจึงกลับวัด คอยปรนนิบัติรับใช้พระอาจารย์ที่ขอมอาศัยอยู่ด้วย และได้อาศัยข้าวก้นบาตรของพระอาจารย์นั้นเอง เป็นอาหารยังชีพเรื่อยมา
เวลาผ่านไปจากวันเป็นสัปดาห์ จากสัปดาห์เป็นเดือน และจากเดือนเป็นปี ขอมคงปฏิบัติตนเสมอต้นเสมอปลายกับการศึกษา ขณะที่การรับใช้พระอาจารย์ก็รักษาไว้มิให้ขาดตกบกพร่อง เป็นอยู่เช่นนี้ล่วงได้ ๓ ปี ขอมจบการศึกษาในชั้นประถมปีที่ ๓ ก็เดินทางกลับสู่อ้อมอกของพ่อแม่อีกครั้งหนึ่งขอมกลับบ้านอย่างคนที่ไปชุบตัวในเมืองหลวงมาแล้วเมื่อย่างก้าวไปที่ใด ก็มีแต่คนนิยมชมชอบ จะพูดจาก็มีคนนับถือ และแม้ว่าชีวิตเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่ม ซึ่งก็หมายถึงวัยแห่งความกระตือรือร้น และการเที่ยวเตร่สนุกสนานเฮฮากับเพื่อนฝูงและสาวพื้นบ้านเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ตามแต่หนุ่มน้อยขอมก็ไม่ยอมปล่อยใจให้ล่องลอยไปเกินกว่าขอบเขต สิ่งที่ขอมคิดมากในขณะนั้นคือ ทำนาช่วยภาระของพ่อแม่ แต่เรานั้นหาได้เป็นคนโดยสมบูรณ์ไม่หากยังไม่ได้บวชเรียน ดังนั้นเมื่อขอมอายุครบบวช พ่อแม่ก็จัดการบวชให้ที่วัดบางสาม อันเป็นวัดใกล้บ้านและสถานศึกษาเดิมของขอม เพราะระยะเวลานี้ ขอมมีนิสัยไปในทางรักสันโดษ ชอบพินิจพิเคราะห์ตรึกตรองต่างกว่าเพื่อนวัยเดียวกันคนอื่นๆ
พิธีอุปสมบทขอมจัดทำกันอย่างเต็มที่เท่าที่ฐานะจะอำนวยได้ และท่ามกลางความชื่นชมของทุกคนเนื่องจากพ่อแม่ของขอมเป็นผู้ที่กว้างขวางมีคนไปมาคบหาด้วยจำนวนมาก การบวชคราวนี้จึงมี พระครูวินยานุโยคแห่งวัดสองพี่น้อง เป็นองค์อุปัชฌาย์ พระอาจารย์กอนวัดบางสาม เป็นกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์เผือกวัดบางซอ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ขอมได้รับฉายาที่พระอุปัชฌาย์ตั้งให้คือ "อนิโชภิกขุ"
นวกะภิกษุอนิโช หรือเด็กชายเป้าที่เพื่อนๆ เรียกกันว่า "ขอม" ก็ได้ก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัตร์ ตั้งแต่บัดนั้น พระขอม หรือ อนิโชภิกษุ เมื่อจำพรราอยู่ที่วัดบางสามก็ตั้งหน้าตั้งตาศึกษาพระธรรมวินัยด้วยความเอาใจใส่อย่างยิ่ง และได้ปฏิบัติตนในในศีลจารวัตร เป็นอย่างดีอยู่หลายปีจนกระทั่งเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงก็มาถึง ยังมีสำนักสงฆ์สร้างขึ้นใหม่แห่งหนึ่ง มีชื่อเรียกตามความนิยมของชาวบ้านว่า "วัดไผ่โรงวัว" ที่นี่ไม่มีสมภารเจ้าวัด บรรดาชาวบ้านย่านนั้นซึ่งจับตาดูพระขอมมาตั้งแต่ต้น ลงความเห็นพ้องต้องกันว่า ผู้ที่สมควรได้ตำแหน่งสมภารวัดใหม่นี้ไม่มีท่านใดเหมาะเท่าพระขอม เมื่อลงความเห็นกันดังนี้ ต่างก็พากันไปนิมนต์ อนิโชภิกษุหรือพระขอม ให้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดไผ่โรงวัวก่อน พระขอมซึ่งเคยเป็นที่คุ้นเคยกับพุทธบริษัทที่นั่นไม่อาจขัดศรัทธาได้ จึงได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดนั้นเป็นเวลา ๒ ปี
ชีวิตของท่านอโชภิกษุในช่วงนี้ หากจะขาดก็คือขาดสถานศึกษาเล่าเรียน เพราะวัดไผ่โรงวัวเป็นวัดใหม่ ขาดสถานศึกษาเล่าเรียน สิ่งนี้ทำให้พระขอมได้พิจารณาตนเองและเห็นว่าอันธรรมวินัยของพระศาสดานั้น ท่านยังเข้าไม่ถึงพอที่จะเป็นสมภารเจวัดได้ หากผู้ศรัทธายังประสงค์จะให้ท่านเป็นผู้นำของวัดนี้อยู่ ท่านก็จำต้องเสาะแสวงหาความรู้เพิ่มเติม ดังนั้นท่านจึงขอย้ายไปจำพรรษาที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งอยู่ในตัวเมืองสุพรรณบุรี แล้วไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดประตูสารใกล้ๆกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ที่ท่านจำพรรษาอยู่นั่นเอง การศึกษาพระปริยัติธรรมของพระขอมดำเนินไป 3 ปี ก็สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก อันเป็นความรู้ชั้นเถรภูมิ
คราวนี้ท่านกลับมาสู่วัดไผ่โรงวัวอีกครั้งหนึ่งอย่างสมภาคภูมิ กลับมาอย่างผู้พร้อมที่จะบริหารกิจให้พระศาสนาเต็มที่ ดังได้กล่าวมาแล้วว่าวัดไผ่โรงวัวเป็นวัดใหม่ ความใหม่นี้เอง เป็นความใหม่ที่ยังไม่ถึงพร้อมกล่าวง่ายๆ คือไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน กุฏิที่อยู่จำพรรษาของภิกษุ สามเณร ก็เป็นกระต๊อบมุงจากเก่าๆ มีอยู่เพียง ๒ หลัง ศาลาการเปรียญที่จะเป็นที่บำเพ็ญกุศลของทายก ทายิกา เป็นเพียงโรงทำด้วยไม้ไผ่หลังคามุงจาก อาศัยพื้นดินเป็นพื้นของศาลาน่าอนาถใจยิ่ง
ภาระของพระขอม คือปรับปรุงศาสนาสถานแห่งนี้ให้น่าพักพิง สมกับเป็นวัดเสียก่อน เพื่อจะได้เป็นหนทางนำไปซึ่งการปรับปรุงจิตใจ ของชาวบ้านผู้ศรัทธาเป็นขั้นที่ สอง และเนื่องจากบรรดาชาวบ้านต่างก็มีศรัทธาพระขอมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว งานปรับปรุงก่อสร้างชั้นแรกจึงผ่านไปได้ไม่ยาก เริ่มด้วยการถมดิน ไม่ให้น้ำท่วมวัดได้ เพราะบริเวณดังกล่าวนี้เป็นที่ลุ่มมาก ถึงฤดูฝนคราใดน้ำท่วมทุกปีและท่วมมากขนาดเรือยนต์เรือแจมแล่นถึงกุฏิได้ เมื่อถมดินเสร็จท่านได้จัดการขุดสระน้ำสำหรับเป็นที่สรงน้ำของพระภิกษุสามเณร และเพื่อชาวบ้านทั้งหลายจะได้อาศัยอาบกินโดยทั่วไป แล้วซ่อมกฏิที่ชำรุด ทรุดโทรม สร้างศาลาการเปรียญ สร้างโบสถ์ จัดสรรให้เหมาะสมเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม สมกับคำว่า "วัด" ศรัทธาของประชาชนก็เพิ่มมากขึ้น
นับแต่พระขอม สละเพศฆารวาสมาสู่พระพุทธศาสนา ท่านมีความตั้งใจมั่น ดังที่เรียกว่า มโนปณิธาน เรื่องนี้ท่านกล่าวกับผู้ใกล้ชิดว่า "..อาตมาได้ฟังพระท่านเทศน์ว่า บุคคลผู้ใดเลื่อมใส ได้สร้างพระพุทธรูปจะเล็กเท่าต้นคาก็ดี โตกว่าต้นคาก็ดี ผู้นั้นจะได้เป็นพรหมเป็นอินทร์ หมื่นชาติ แสนชาติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ หมื่นชาติแสนชาติ ผู้นั้นจะไม่เป็นผู้ตกต่ำเลยจนตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพาน ถ้าผู้ใดสร้างพระพุทธรูปด้วยทองคำ ผู้นั้นจะได้เกิดเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า.." ด้วยมโนปณิธานนี้เองทำให้ท่านขอมคิดเริ่มสร้างพระพุทธโคดมด้วยทองสัมฤทธิ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก พ.ศ. ๒๕๑๒ ท่านขอมก็เริ่มบอกบุญแก่ญาติโยมใช้เวลา ๒ ปีกว่าจะเริ่มสร้างได้ เนื่องจากเป็นงานใหญ่นั่นเอง ถึงต้องใช้เวลาสร้างทั้งหมด ๑๒ ปี ด้วยกัน จะแล้วเสร็จ พ.ศ. ๑๕๑๒ หลังจากนั่นท่านขอมก็เริ่มสร้างสิ่งก่อสร้างอีกหลายอย่าง อาทิเช่น สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล แดนสวรรค์ นรกภูมิ เมืองกบิลพัสดุ์และอีกหลายๆ อย่างด้วยกัน ดังที่เป็นกันอยู่เท่าทุกวันนี้
ถ้าถามว่าหลวงพ่อขอมจะสร้างสิ่งก่อสร้างไว้มากมายเพื่ออะไร ท่านก็ตอบว่า อาตมาสร้างไว้เพื่อให้ผู้ศรัทธาและอนุชนรุ่นหลัง ได้ศึกษาเรื่องราวของพุทธประวัติ นอกจากงานก่อสร้างแล้วหลวงพ่อขอมท่านก็ยังเป็นนักเขียน นักแต่งที่มีความสามารถไม่ยิ่งไม่หย่อนไปกว่าด้านงานก่อสร้าง ผลงานของท่านปรากฏอยู่หลายเรื่องเฉพาะ ที่จัดพิมพ์แจกเป็นธรรมทานไปแล้วก็มีเรื่อง ธรรมฑูตเถื่อน พุทธไกรฤกษ์ สมถะและวิปัสสนา
จนมาถึงวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๓ เวลา ๑๖.๔๕ น. หลวงพ่อขอมก็มรณภาพลงด้วยโรคหัวใจล้มเหลว รวมสิริอายุ ๘๘ ปี ๖๘ พรรษา ทำให้นักถึงคำปฏิญาณ ของท่านอนิโช ที่กล่าวไว้ ๕ ข้อ คือ
๑. ชีวิตของเราที่เหลือขอช่วยพระพุทธองค์ไปจนตาย
๒. เมื่อมีชีวิตอยู่ ถ้าเรามีเงิน ส่วนตัวสัก ๑ บาท เราก็จะอายพุทธบริษัทเป็นอย่างยิ่ง
๓. เราจะให้รูปพระองค์เกลื่อนไปในพื้นธรณี
๔. โอ..โลกนี้ ไม่ใช่ของฉัน
๕. เราต้องตาย ตายใต้ผ้าเหลืองของเรา
บัดนี้ท่านอนิโชนั้น ได้ทำคำปฏิญาณของท่านได้สมบูรณ์แล้วทุกประการ ท่านพระครูผู้นี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากเด็กชายเป้าในอดีต ซึ่งบัดนี้สละทุกสิ่งเพื่อเจริญรอยตามบาทพระพุทธองค์ ท่านคือศิษย์พระคถาคต ผู้มุ่งมั่น